ชนเผ่าคะฉิ่น

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชนเผ่าคะฉิ่นเรียกตนเองว่า “ จิมเผาะ ” อพยพมาสู่ประเทศไทยจากรัฐฉานประเทศพม่า บางส่วนอพยพมาจากมลฑลยูนนานประเทศจีนพร้อมกับคนลีซู ลาหู่ และอาศัยอยู่ด้วยกันกับเผ่านั้น ๆ เมื่อ 50 – 60 ปีมาแล้ว แต่ที่อพยพมาเป็นกลุ่มเฉพาะชนเผ่าคะฉิ่นอย่างเดียวนั้นในปี พ.ศ.2517 เข้ามาทางดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปอยู่ที่ดอยวาวี อ.แม่สรวย จ. เชียงราย แล้วอพยพมาอยู่ที่ปางมะเยา บ้านใหม่หมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่บ้านหนองเขียว เมื่อ 25 ปีที่แล้ว คะฉิ่นมีความใกล้ชิดกับคนไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ และอ่าข่า เนื่องจากอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต – พม่าเช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก www.hilltribe.org

ชนเผ่าดาราอาง

ประวัติความเป็นมาของชนเผ่าดาราอาง ชนเผ่าดาราอาง แปลว่าชนเผ่าที่ชอบอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของชนเผ่านี้ ปกติชนเผ่านี้เรียกตนเองว่า ดาราอั้ง ส่วนชื่อปะหล่องนั้นเป็นชื่อที่ชนกลุ่มพม่าขนานนาม โดยทั่วไปชนกลุ่มนี้ไม่ชอบให้เรียกว่า ปะหล่องด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ใช่ภาษาตนเอง ทั่วโลกมีดาราอั้งอยู่ ๓ แบบ คือ ดาราอางว่องหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าดาราอางดำ กลุ่มนี้แต่งกายคล้าย ๆ กับลาหู่แชแล ดาราอางเหร่งหรือดาราอางแดงและดาราอางลุ่ยหรือดาราอางขาว สำหรับชนเผ่าดาราอางทั้ง ๓ กลุ่ม มีความแตกต่างกัน เช่น ภาษา จะมีการออกเสียงหนักและเบาต่างกัน ตลอดถึงการออกเสียง ซึ่งบางกลุ่มเน้นเสียงสูง มีบางกลุ่มที่เน้นเสียงต่ำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามีความต่างกันในด้านการพูดและการแต่งกายแต่ก็สามารถสื่อสารกันได้ ปัจจุบันชนเผ่าดาราอั้งอยู่ในประเทศพม่า (ที่น้ำสังข์ เชียงตุง และเมืองกึ่ง) ประเทศจีนและประเทศไทย ในส่วนประเทศไทยนั้นล้วนแต่เป็นดาราอางเหร่งหรือแดง

ชนเผ่ากะเหรี่ยง(ปกาเกอญอ)

กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี พบมากที่ อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว พบที่ อำเภอ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย ชนเผ่า "ปกากะญอ" เป็นชนเผ่าที่บอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยนับพันเรื่อง เรียงร้อยเก็บไว้ในเเนวของนิทาน อาจจะไม่ใช่หลักฐานที่เเน่ชัด เเต่ก็พยายามที่จะเล่าสืบทอดให้ลูกหลานได้รู้ ถึงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมของตัวเอง เล่ากันตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ คู่แรก คือ อดัม กับเอวา ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสวน (เอเดน) ที่พระองค์ได้สร้างไว้ ทั้งสองได้ทำ ผิดกฎ ของสวรรค์ จึงถูกเนรเทศลงมาใช้กรรมอยู่ในโลกจนกระทั่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้
กล่าวถึงตำนาน ที่ตั้งของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตั้งอยู่ที่ภูเขา "ทอทีปล่อก่อ" มีผู้เฒ่า "เทาะแมป่า" เป็นหัวหน้า หมู่บ้านสืบเชื่อสายมาจนลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เมื่อที่ทำกินไม่พอเทาะแมป่าจึงพาลูกหลานอพยพย้ายถิ่นฐาน ระหว่างการเดินทางว่ากันว่าเทาะแมป่าเดินเร็วมากลูกหลานพากันหยุดพัก เทาะแมป่าไม่สนใจลูกหลาน พยายามที่จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนมาหยุดตามที่ต่างๆ แถบแถวลุ่มน้ำสาละวินบ้าง ลุ่มน้ำอิระวดีบ้าง กระทั้งสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ จนมาถึงทุกวันนี้มีกะเหรี่ยง อาศัยอยู่กระจัดกระจาย ทั่วไปในเขตพม่า ตลอดจนในเขตภาคเหนือ และตะวันออกของประเทศไทย เอกสารบางชนิดระบุว่าคนกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ในตะวันออกเฉียงไต้ของประเทศจีน เมื่อถูกขับไล่หนี ลงมาตั้งหลักในระว่างกลางเขตพม่ากับมอญ ตอนหลังถูกพม่าบีบ ต้องอพยพอยู่บนภูเขา เอกสารบางชิ้นระบุว่าคนกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยล้วนมาจากพม่าทั้งสิ้น เพียงแต่ ไม่มีเอกสารยืนยันว่าเข้ามาอยู่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บ้างก็ว่าในดินแดนล้านนา หรือก่อนโยนกด้วยซ้ำ นั้นหมายถึงการกำเนิดเมืองเชียงใหม่
การย้ายถิ่นฐาน จากคำบอกกล่าวของ "พือ มูล บุญเป็ง" คนเฒ่า คนแก่ ได้กล่าว เล่าความเป็นมาของกะเหรี่ยงในประเทศไทย พื้นที่หลักที่กะเหรี่ยง (ปกากะญอ) อาศัยอยู่ครั้งเเรกคือ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดอาชีพเกษตรกรรม ในการหาเลี้ยงชีพ ต่อมาในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติประมูล โครงการทำป่าสัมปทาน ณ.ตำบลแม่ยาว จังหวัดเชียงราย โดยบริษัทที่ชนะการประมูล จะได้กรรมสิทธิ์การทำธุรกิจขนส่งไม้ จากตำบล แม่ยาว ออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้น บริษัทจากประเทศฝรั่งเศส หรือที่ชาวกระเหรี่ยงเรียกกันว่า บริษัท "ห้าง โบ๋ เบ๋" ได้กรรมสิทธิ์ในการทำธุรกิจสัมปทานในครั้งนั้นไป "พือ มูล บุญเป็ง" เล่าต่อว่าหลังจากที่ "ห้างโบ๋ เบ๋" เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ปัญหาแรกที่พบคือการสื่อสาร และการทำสัมปทานไม้ในสมัยนั้น จำเป็นต้องมี ช้างควานช้างในการลากไม้ซุง หลังจากเสร็จสัมปทาน กะเหรี่ยง (ปกากะญอ) ส่วนหนึ่งได้ตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านน้ำลัด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยเห็นว่าเป็นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร ได้ใช้ชีวิตมาจนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงทำสงครามกะเหรี่ยงได้ร่วมมือกับทหารไทย โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ในการลำเลียง สิ่งของ เสบียง อาหาร ให้กับทหารไทยในการรบครั้งนั้น หลังสงครามมีชนพื้นเมืองย้ายถิ่นฐานกลับมามากขึ้น ทำให้ที่คับแคบแออัดขัดแย้งที่ทำมาหากิน กะเหรี่ยงส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง
กำเนิด ตำบลแม่ยาว เนื่องด้วยชนเผ่ากะเหรี่ยง มีนิสัยรักความสงบ ชอบใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เมื่อมีประชากรหนาแน่น จึงมองหาที่ทำกินใหม่ โดยเล็งเห็นว่า ตำบลแม่ยาว ที่เคยเป็นสัมปทานเก่า เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก ขณะนั้นผู้เฒ่า (เซโค่) ตุดง ธุระวร ได้เป็นผู้นำพาลูกหลาน และลูกบ้านส่วนหนึ่งย้ายขึ้นมา ตั้งหลัก ปักฐาน อยู่ที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย คำว่า แม่ยาว ตั้งขึ้นมาจากสัมปทานแม่ยาวนั้นเอง แต่ยังมีบางส่วนที่ ย้าย กระจัดกระจายออกไป ตามส่วนต่างๆ ตามแทบแถว ตำบล ทุ่งพร้าว อำเภอ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย ยังมีส่วนที่ย้าย และอาศัยอยู่แถบแนวชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านี้ ทุกวันนี้ ยังมีประชากรกะเหรี่ยงอาศัยกระจัดกระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ชนเผ่าลีซู

อยู่เพียงหญิงหนึ่งชายหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องกันเพราะได้อาศัยโดยสารอยู่ในน้ำเต้าใบมหึมา พอน้ำแห้งสองพี่น้องก็ออกมาและตามหาใครก็ไม่พบ จึงประจักษ์ใจว่าตนเป็นหญิงชายคู่สุดท้ายในโลก ซึ่งถ้าไม่สืบสายพันธุ์มนุษยชาติก็ต้องเป็นอันสูญพันธุ์ไป แต่ก็ตะขิดตะขวงใจในการเป็นพี่น้อง เป็นกำลังจึงต้องเสี่ยงทายฟังความเห็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เห็นมีโม่อยู่บนยอดเขาจึงจับตัวครกกับลูกโม่แยกกันเข็นให้กลิ้งลงจากเขาคนละฟาก โม่เจ้ากรรมพอจะถึงตีนก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง อุตสาห์กลิ้งอ้อมตีนเขาไปรวมกันเข้ารูปเดิมอย่างดิบดี ไม่ว่าจะลองเสี่ยงทายด้วยอะไรก็จะได้ผลแบบนี้ทั้งนั้น พี่ชายน้องสาวเห็นว่าพระเจ้ายินยอมพร้อมใจให้สืบพันธุ์แน่ ๆ จึงแต่งงานกันไม่นานก็มีลูกด้วยกัน
ความหมายคำว่าลีซู ลีซูมีความเชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่มีกา่รแต่งกายมีสีสรรสดใส และหลากสีมาก ความกล้าในการตัดสินใจ และความเป็นอิสระชนสะท้อนออกมาให้เห็น จากการใช้สีตัดกันอย่างรุนแรงในการเครื่องแต่งกาย คนอื่นเรียกว่าลีซอ แต่เรียกตนเองว่า “ลีซู” (คำว่า “ลี” มาจาก “อิ๊หลี่” แปลว่า จารีต ประเพณีหรือวัฒนธรรม “ซู” แปลว่า “คน”) มีความหมายว่ากลุ่มชนที่มีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง อาจกล่าวได้ว่าชาวลีซูเป็นกลุ่มชนที่รักอิสระ มีระบบจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยืดหยุ่น เป็นนักจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะไม่ยอมรับสิ่งใหม่โดยไม่ผ่านการเลือกสรร และจะไม่ปฏิเสธวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยไม่แยกแยะ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวลีซูมีศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
ความเป็นมาลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต – พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาสาละวินในเขตมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อ ๔,๐๐๐ปีที่ผ่านมาพวกตนเคยมีอาณาจักร เป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติต่อมาชนเผ่าลีซู จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน หลังจากนั้นได้อพยพลงมา ทางใต้เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นเรื่อยลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกัน เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวลีซู ถึงเรื่องราวการอพยพว่า ได้อพยพมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่น ฐานอยู่ที่บ้านลีซูห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย และโยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่และสุโขทัย ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเองลีซูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซูลายกับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นอยู่ พม่า จีน


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่

ตามประวัติศาสตร์ของชนชาติ “ลาหู่” มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี โดยชาวลาหู่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในธิเบต และอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาได้ทยอยอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยแบ่งออกเป็นสองสาย คือส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า เมื่อพ.ศ. 2383 และราว พ.ศ. 2423 ได้เข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยตั้งรกรากที่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในประเทศลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ชนเผ่าลาหู่ได้แบ่งเป็นเผ่าย่อยอีกหลายเผ่า อาทิ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ขาว ลาหู่ปะกิว ลาหู่ปะแกว ลาหู่เฮ่กะ ลาหู่ลาบา ลาหู่เชแล ลาหู่บาลา เป็นต้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ราว 1.5 แสนคน โดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง โดยเฉพาะตามพื้นที่ติดชายแดน ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่บ้าน เผ่าลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยโตโบหรือผู้นำทางศาสนา ส่วนลาหู่ดำหรือลาหู่เหลือง ก็มีการนับถือผีเช่นกัน นอกจากนี้เผ่าลาหู่ก็ยังมีการนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วยข้อมูลจากหนังสือ
ด้านวิถีชีวิตของชนเผ่าลาหู่นั้น โดยปกติแล้วชนเผ่าลาหู่ชอบอาศัยอยู่บนที่สูง และเป็นชนเผ่าที่ไม่ชอบความวุ่นวาย มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เป็นชนเผ่าที่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้คนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะยังชีพด้วยการเป็นชาวนา ปลูกข้าว และข้าวโพด เพื่อการบริโภคในครัวเรือน ลาหู่ก็ยังภูมิใจกับการเป็นนักล่าสัตว์ นอกจากนี้พวกเขายังเคร่งครัดกับกฎระเบียบของความถูกและผิด ทุกๆ คนจะตอบคำถามในพื้นฐานเดียวกับคนรุ่นเก่า ชาวลาหู่เข้มแข็งต่อการยึดมั่นต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และทำงานด้วยกันเพื่อยังชีพ ลาหู่อาจเป็นกลุ่มคนที่มีความเท่าเทียมทางด้านเพศมากที่สุดในโลก


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก หนังสือรูปภาพจากบ้านจะแล ต.แม่ยาว พ.ศ.2545

ชนเผ่าม้ง

ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติม้งมาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานกันว่าม้งคงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตรรษ จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน กษัตริย์จีนในราชวงค์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่าม้งที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่แล้วรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้มีการปราบปรามม้งเกิดขึ้น โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และยอมรับวัฒนธรรมของจีน และอีกประการหนึ่งคือเห็นว่า ม้งเป็นพวกอนารยชนแห่งขุนเขา (คนป่าเถื่อน) จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318
ในที่สุด ชาวม้งประสบกับความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ในที่สุดม้งก็เริ่มอพยพถอยร่นสู่ ทางใต้ และกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาวบริเวณทุ่งไหหินเดียนเบียนฟู โดยมีหัวหน้าม้งคนหนึ่ง คือ นายพลวังปอ ได้ราบรวมม้ง และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ เป็นต้นมา
ปัจจุบันชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 151,080 คน


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก www.hilltribe.org

ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน

เมี่ยน [เย้า] ได้รับการจัดให้อยู่ในเชื้อชาติ มองโกลอยด์ คืออยู่ในตระกูลจีนธิเบต ได้ปรากฏครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีน สมัยราชวงศ์ถัง โดยปรากฏในชื่อ ม่อ เย้า มีความหมายว่าไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด เล่ากันว่า เมื่อประมาณ 2000 กว่าปีมาแล้วบรรพชน ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบรอบทะเลสาปตงถิง แถบแม่น้ำแยงซี ยอมอ่อนน้อมให้ชนชาติผู้ปกครองรัฐ และไม่ยินยอมอยู่ภายใต้การบังคับกดขี่ของรัฐ จึงได้ทำการอพยพเข้าไปในป่าลึกบนภูเขาสูง ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านด้วยมือของเขาเอง เพื่อปกป้องเสรีภาพจึงถูกขนานนามว่า ม่อ เย้า ซึ่ง เหยา ซี เหลียน ได้บันทึกไว้ในเหลียงซูต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง คำเรียกนี้ี้ถูกยกเลิกไปเหลือแต่คำว่า "เย้า" เท่านั้น ต่อมาคำว่าเย้าเคยปรากฏในเอกสารจีน เมื่อประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งมีความหมายว่าป่าเถื่อน หรือคนป่ากล่าวกันว่าในประเทศจีนชนชาติเย้ามีคำเรียกขานชื่อของตนเองแตกต่างกันถึง 28 ชื่อ แต่คนเย้าในประเทศไทย เรียกตัวเองว่า เมี่ยน หรือ อิ้วเมี่ยน ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์ หรือ คนเหยา ซุ่น อัน กล่าวว่าชาวเย้าในประเทศจีนแยกออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ เผ่าเปี้ยน เผ่าปูนู เผ่าฉาซัน และเผ่าผิงตี้ ชาวเย้าเผ่าเปี้ยนมีประชากรมากที่สุดและเป็นกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาเป็นระยะทางที่ไกลที่สุด และกระจายกันอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวางที่สุดด้วย ภาษาเย้าในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนากลายเป็นภาษาถิ่นย่อย 3 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาปูนู และภาษาลักจา
มีนิทานที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาของชาวเมี่ยนว่า ในสมัยก่อนตาอง [โล่งช้วน] ตากู๋ [กู๋ฟาม] เป็นเทพ อยู่บนสวรรค์ มีความคิดที่จะสร้างเผ่าเมี่ยนขึ้นมา ดังนั้นตาอง และตากู๋จึงได้ปรึกษาหารือกันอยู่บนสวรรค์ว่า จะให้ตากู๋ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ โดยให้ลงมาเกิดเป็นลูกสาวคนที่สามของพระราชา ส่วนตาองจะลงมาเกิดในร่าง ของสุนัขมังกร เพราะมนุษย์ถือว่าสุนัขนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ตํ่าต้อยที่สุด มักมีคนดูถูกตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อถึงเวลา ทั้งคู่จึงลงมาเกิดโดยวางแผนกันไว้ว่า อนาคตต้องทำการปกป้องคุ้มครองเผ่าเมี่ยน ตากู๋ลงมาเกิดเป็นลูกสาว พระราชามีชื่อว่า แป้งฮู่ง ซึ่งมีสิริโฉมงดงาม และฉลาดกว่าคนอื่น และได้ทำสัญลักษณ์ว่ามีไฝหนึ่งเม็ดที่ขาของตากู๋ ขณะนั้นในโลกมนุษย์มีเมืองอยู่ 2 เมือง เป็นของฝ่ายแป้งฮู่ง และกู๋ฮู่งได้ตกลงทำสงคราม มีคืนหนึ่งทั้งแป้งฮู่ง และกู๋ฮู่งต่างก็ได้ฝันว่าจะมีคนมาช่วยทำศึกให้นับจากนี้ 10 วัน ซึ่งขณะนั้นฝ่ายของแป้งฮู่ง ยังไม่พร้อมที่จะทำการสู้รบ จึงได้เรียกเหล่าขุนนางมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี และในที่สุดก็สรุปว่าถ้าภายใน 1 เดือน ใครที่สามารถตัดหัวของกู๋ฮู่งแล้วนำมาให้ตนได้ ตนจะยกลูกสาวคนที่สามให้ผู้นั้นเป็นรางวัล โดยให้เป็นลูกเขย และจะยกแผ่นดิน และข้าทาสบริวารให้ปกครองครึ่งหนึ่ง เมื่อประกาศออกไปแล้ว ประชาชนในเมืองของแป้งฮู่งไม่มีใครกล้าอาสาออกไปสู้รบกับกู๋ฮู่ง ที่ท้ายเมืองมีครอบครัวหนึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ปากทางนอกเมือง
วันหนึ่งได้มีสุนัขมังกร 5 สีตัวหนึ่งชื่อว่า ผันหู เข้ามาหา หญิงม่ายคนหนึ่งเห็นเข้าจึงได้พูดขึ้นว่า ตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้ยังไม่เคยเห็นสุนัขมังกรตัวไหนที่ มีลักษณะสง่างาม และฉลาดเช่นนี้มาก่อน เราจะเอาสุนัขมังกรตัวนี้ไปถวายให้้กับพระราชาเป็นการสร้างบุญกุศลดีกว่า ดังนั้นจึงไปบอกพระราชา เมื่อพระราชาทราบจึงส่งคนรับกลับไปเลี้ยงไว้ เมื่อพระราชาได้เห็นก็รู้สึกดีใจ และได้สังเกตเห็นจุดต่าง ๆ บนร่างกายที่มีทั้งหมด 120 จุด และแต่ละจุดก็มีความสวยงามมาก และที่สำคัญคือ รู้ภาษาด้วย วันหนึ่งพระราชาได้เปิดประชุม กับเหล่าขุนนาง และผันหูก็เข้าไปร่วมด้วย เมื่อฟังแล้วก็ไม่เห็นมีใครขันอาสาจะไปฆ่ากู๋ฮู่งได้ ผันหู จึงกล่าวขึ้นว่า ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องสิ้นเปลืองเสบียงอาหาร และใช้ทหารทั้งกองทัพ ให้ข้าไปจัดการคนเดียว เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตํ่าต้อย คงไม่มีใครสงสัย และเฉลียวใจ ฝ่ายแป้งฮู่งก็เห็นด้วย เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง เรื่องเดือดร้อนไปถึงบนสวรรค์์เบื้องบนต้องส่งยาวิเศษมาให้ผันหู 1 เม็ด เมื่อกินแล้วสามารถ ทนความหิวและอยู่ในทะเลได้ 7 วัน 7 คืน เมื่อว่ายนํ้าไปถึงฝั่งของกู๋ฮู่ง กู๋ฮู่งเห็นเข้า ก็นึกดีใจแล้วคิดว่าคงจะเป็นสุนัขมังกรที่จะมาช่วยตน
เมื่อพูดถึงกู๋ฮู่ง กู๋ฮู่งเป็นกษัตรย์ที่ชอบเข่นฆ่าคน ชอบทำสงคราม ชอบเอารัดเอาเปรียบประชาชน กู๋ฮู่งเมื่อเห็นผันหูพลางนึกในใจว่า คราวนี้เมื่อมีีสุนัขมังกรก็เห็นว่ามีความสามารถมากมาย อีกทั้งฉลาดด้วย จึงรักราวกับสมบัติอันมีค่า ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดจะพาผันหูไปด้วยเสมอเหมือนเงาตามตัว เมื่อมีผันหูคุ้มครองคราวนี้ กู๋ฮู่งก็ไม่ต้องการทหารอารักษ์ขาอีกแล้ว จึงปล่อยปละละเลยราชกิจบ้านเมือง ไม่สนใจพออยู่กันไปผันหู เมื่อได้โอกาสเหมาะจึงกระโดดกัดคอกู๋ฮู่งขาด และคาบไว้้ข้ามทะเลกลับ เมื่อถึงเมืองแป้งฮู่งเห็นก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ตนไม่ต้องไปรบ แต่กลับได้ชัยชนะ จึงเกิดการจัดงานเลี้ยงใหญ่โต แป้งฮู่งเคยพูดว่าถ้าใครสามารถเอาหัวกู๋ฮู่งมาได้จะยกลูกสาวคนที่สามให้ และเมืองอีกครึ่งหนึ่งแป้งฮู่ง กล่าวแล้วย่อมไม่คืนคำ แต่สงสารลูกสาวที่ต้องแต่งงานกับสุนัขมังกร กลัวโดนนินทา และลูกสาวจะต้องอาย ไม่กล้าสู้หน้าคน ดังนั้นจึงได้ทำผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวไว้ แล้วเกณฑ์สาว ๆ ในเมืองที่มีรูปร่าง หน้าตาที่คล้ายลูกสาว ตนแล้วแต่งตัวคล้ายกันหมด ประมาณ 10 คนให้ทั้งหมดมานั่งอยู่ข้างนอก และให้ข้าทาสบริวารทุกคนออกมาชี้ว่า
คนไหนเป็นลูกสาวของตน แต่ไม่มีใครสามารถชี้ตัวได้ถูกต้อง ดังนั้นจึงเรียกผันหูมาชี้ตัว ผันหูจึงได้ใช้จมูกดมไปตามเท้าของแต่ละคนไปเรื่อย ๆ เพื่อจะหาสัญลักษณ์ที่ได้ บอกกับตากู๋ไว้ ดูไปเรื่อย ๆ จนเจอไฝหนึ่งเม็ดที่หน้าแข้ง จึงได้ใช้ปากงับชายเสื้อของลูกสาวแป้งฮู่งไว้แล้วดึง 2-3 ครั้ง เมื่อแป้งฮู่งเห็นดังนั้น จึงรู้ว่าไม่สามารถหลบหลีกได้ และคิดในใจว่าสุนัขตัวนี้คงไม่ธรรมดาแน่ จึงจัดงานแต่งให้ 3 วัน 3 คืน แป้งฮู่งสงสารลูกสาวตัวเอง จึงได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า เกีย เซ็น ป๊อง [หนังสือเดินทาง] และแบ่งข้าทาสบริวารคอยติดตามรับใช้ และสามารถทำมาหากินได้บนผืนแผ่นดินได้โดยไม่่ผิดกฏหมาย และได้แต่งตั้งลูกเขยของตนเป็น พ่าน ต๋าย โหว ซึ่ง เป็นแซ่แรกของเผ่าเมี่ยน คือ แซ่่พ่าน และได้บอกว่าถ้าหากมีบุตรต้องพามาให้แป้งฮู่งตั้งชื่อให้
เมื่อได้อําลาแป้งฮู่งแล้วก็นำบริวารทั้งหมดเข้าไปในป่า ซึ่งไม่มีบ้านเมืองต้องทำการโค่น ล้ม แผ้ว ถางป่า เพื่อสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ กระทั่งภรรยาได้คลอดบุตรออกมา เป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน ลูกชายได้แต่งภรรยาเข้าบ้าน และลูกหญิงทั้งหมดก็ให้แต่งสามีีเข้าบ้านเพื่อช่วยกันสืบเชื้อสาย ดังนั้นจึง เป็นที่มาของ ทั้ง12 แซ่ แซ่จากหนังสือ เกีย เซ็น ป๊อง
โล่ห์เปี้ยน [แซ่พ่าน]
เหล์เซี้ยม [แซ่เชิ้น]
โล่ห์ตั่ง [แซ่ตั้ง]
โล่ห์เจ๋ว [แซ่จ๋าว]
โล่ห์แจ๋ง [แซ่เจิ้น]
โล่ห์ย่าง [แซ่ว่าง]
โล่ห์ฟูง [แซ่ฟุ้ง]
โล่ห์เจียว [แซ่เจียว]
โล่ห์ต้อง [แซ่ถาง]
โล่ห์รวย [แซ่รวย]
โล่ห์เจียง [แซ่จาง]
โล่ห์เหลย [แซ่ลี]
สำหรับความหมาย ของแต่ละแซ่นั้นเป็นบัญญัติเฉพาะ ไม่มีคำแปล แต่ในประเทศไทยขณะนี้ มีการสำรวจพบ 12 แซ่ บางแซ่ไม่ได้ปรากฏในเกีย เซ็น ป๊อง ดังนี้
โล่ห์เปี้ยน [แซ่พ่าน]
โล่ห์เหลย [แซ่ลี]
โล่ห์ตั่ง [แซ่เติ้น]
โล่ห์เจ๋ว [แซ่จ๋าว]
โล่ห์ล่อ [แซ่ล่อ]
โล่ห์ย่าง [แซ่ว่าง]
โล่ห์ปู๋ง [แซ่ฟุ้ง]
โล่ห์จั้น [แซ่ชิ่น]
โล่ห์เลี่ยว [แซ่เลี่ยว]
โล่ห์สว้าง
โล่ห์ตั๋ว [แซ่ตั๊ว]
โล่ห์ท่าว [แซ่ท่าว]
วันหนึ่งผันหูนึกอยากกินเนื้อเลียงผา แต่ลูกหลานไปไร่กันหมด ผันหูจึงได้ออกมายังหน้าผา เพื่อไล่เลียงผา พอเลียงผาเห็นเข้าก็ตกใจวิ่งชนถูกผันหู ทำให้ผันหูตกลงไปในเหวแล้วก็ติดอยู่บนต้นตะจู้ง [ต้นซ้อ] ที่หน้าผาจนเสียชีวิต พอลูกหลานกลับมารู้ จึงได้ไปบอกแป้งฮู่ง แป้งฮู่งจึงได้มาดูเห็นผันหูตายแล้ว แต่ร่างกายไม่ถึงพื้นดินคาอยู่บนต้นตะจู้งข้างล่าง มีกอไผ่่หนึ่งกอรองรับไว้ แป้งฮู่งจึงบอกว่าถ้าสถานที่ตายเป็นอย่างนั้น ก็ให้เอาไม้ไผ่นั้นมาทำเป็นขลุ่ยต้นตะจู้ง ให้ตัดลงมาทำโล่งศพ
และถ้าหากวิญญาณของผันหูมีจริง คืนนี้ี้ขอให้ลมพายุช่วยพัดต้นตะจู้ง ลงมาเพื่อให้ลูกหลานได้้นำร่างของผันหูกลับคืนนั้น และก็เกิดจริง ตอนที่ตกลงมานั้น มือข้างหนึ่งไปเกาะไม้ไผ่ต้นหนึ่งไว้ และอีกข้างหนึ่งก็ไปยันอีกต้นหนึ่งไว้ รุ่งเช้าแป้งฮู่งจึงพูดขึ้นว่าควรตัดไม้ไผ่นั้นมาทำเป็นจ๋าว [ไม้เสี่ยงทายใช้ในการประกอบพิธีกรรม] และให้เอาหนังเลียงผามาขึงทำเป็นกลอง เพื่อมาเคาะตีในงานพิธีงานศพให้กับผันหู
การเดินทางจากจีนสู่ประเทศไทย ชาวเมี่ยนเผ่าเดิมมี 12 สกุล เส้นทางการอพยพของสกุลใหญ่ ๆ จะรู้เส้นทางชาวเย้าเผ่าเมี่ยนทั้งหมด ในหนังสือทางลงจากภูเขาของบรรพชน 12 สกุลที่ตำบลจงเหอเซียง อำเภอปกครองตนเอง ชนชาติเย้าเจียงหัว มณฑลฮูหนาน ถิ่นเดิมของชนชาติเย้าอยู่ที่นานไห่ผู เฉียวโถว จากตำนานชาวเย้าบางเผ่าที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของทะเลสาปต้งถิงหู ก็มีเล่าว่าบรรพชนของพวกเขาย้ายมาจาก ผู เฉียว โกว แถบฝั่งเหนือของทะเลสาปต้งถิงหู จึงสันนิษฐานได้ว่า หนานไห่น่า จะหมายถึง ทะเลสาปต้ง ถึงชาวเย้า 12 สกุลคงจะข้ามทะเลสาปอพยพมาสู่ภาคใต้ ราวศตวรรตที่ 15-16 ชาวเย้าเผ่าเปี้ยน อพยพเข้ามาสู่ภาคเหนือของเวียตนามผ่านประเทศลาว และอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในราว 100 ปีมานี้เอง